ฟักแฟง
ฟักเขียว(ฟักแฟง) Winter melon
ชื่อวิทยาศาสตร์ Benincasa hispida (Thunb.) Cogn.
วงศ์ CUCURBITACEAE
ชื่อท้องถิ่นอื่น มะฟักหอม (แม่ฮ่องสอน), ฟักขี้หมู ฟักจิง มะฟักขม มะฟักหม่น มะฟักหม่นขม (ภาคเหนือ), บักฟัก (ภาคอีสาน), ฟัก ฟักขาว ฟักเขียว ฟักเหลือง ฟักจีน แฟง ฟักแฟง ฟักหอม ฟักขม (ภาคกลาง), ขี้พร้า (ภาคใต้), ตังกวย (จีน), ดีหมือ ลุ่เค้ส่า (ชาวกะเหรี่ยง), หลู่ซะ (กะเหรี่ยงเชียงใหม่), หลู่สะ (กะเหรี่ยงแม่ฮ่องสอน), หลึกเส่ (กะเกรี่ยงแดง), สบแมง (เมี่ยน), ฟักหม่น ผักข้าว (คนเมืองล้านนา) เป็นต้น
ลักษณะทางพฤกษศาสตร์
ฟักเขียวเป็นพืชอายุสั้น มีลำต้นสีเขียวมีขนขึ้นปกคลุมอยู่ทั่วลำต้น แตกกิ่งก้านสาขามากมาย ใบมีลักษณะเป็นหยักคล้ายฝ่ามือขอบใบแยกออกเป็น 5–7 แฉก ปลายแฉกแหลมใบหยาบเรียงสลับกันตามข้อต้น ใบกว้างประมาณ 5–15 เซนติเมตร มีขนปกคลุม ก้านใบยาวประมาณ 10 เซนติเมตร มีดอกเดี่ยว (Solitary Flower) สีเหลือง ดอกเพศผู้มีลักษณะเป็นหลอดยาว 5–10 เซนติเมตร ปลายดอกแยกออกเป็น 5 กลีบ มีกลีบเลี้ยง 5 กลีบ ส่วนดอกเพศเมียก้านดอกจะสั้นกว่าดอกเพศผู้ ปลายดอกแยกออกเป็น 3 แฉก มีรังไข่อยู่ภายในดอก ผลมีลักษณะเป็นรูปกลมยาวกว้างประมาณ 20–30 เซนติเมตร ยาว 30–60 เซนติเมตร เปลือกแข็งสีเขียวเนื้อในสีขาว เนื้อแน่น ฉ่ำน้ำ มีเมล็ดอยู่ภายในจำนวนมากสีขาวออกเหลือง
– ระยะเวลาในการปลูกใช้เวลา 65-75 วัน
– สามารถเก็บผลผลิตได้ในวันที่ 75-80 วันของการปลูก
– สรรพคุณ ช่วยขับความร้อนภายในร่างกายและถอนพิษไข้ต่างๆ ช่วยแก้อาการธาตุพิการ ช่วยขับปัสสาวะและเป็นยาระบาย ช่วยรักษาโรคหวัด แก้อาการไอ และขับเสมหะออกจากลำคอ ช่วยป้องกันโรคเบาหวาน หรือน้ำตาลในเลือดสูงได้ดี ช่วยรักษาและป้องกันโรคลมบ้าหมู