บวบหอม

บวบหอมเป็นผักที่นิยมนำมาประกอบอาหาร เนื่องจากเป็นผักที่มีกากใยสูง มีส่วนช่วยในการขับถ่ายได้ดี และยังมีสรรพคุณทางยาที่น่าสนใจอีกหลายประการ

ชื่อวิทยาศาสตร์ Luffa cylindrica (L.) M.Roem.

ชื่อวงศ์ CUCURBITACEAE

ชื่ออังกฤษ Smooth Loofah, Sponge Gourd, Vegetable Sponge

ชื่อท้องถิ่น กะตอร่อ บวบกลม บวบอ้ม มะนอยขม มะนอยอ้ม

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ของบวบหอม
บวบหอมเป็นไม้เถา มีอายุเพียงปีเดียว ลำต้นและกิ่งก้านมีขนที่จะจะค่อยๆ หลุดร่วงไปเมื่อแก่ ใบเดี่ยว เรียงสลับกัน ปลายใบแหลม ขอบใบหยักเล็กน้อย มีรอยเว้าลึกเป็น 5 แฉก โคนใบเว้าเป็นรูปหัวใจ ก้านใบเป็นเหลี่ยม ดอกเพศผู้และเพศเมียอยู่บนต้นเดียวกัน ออกดอกเดี่ยว หรือออกเป็นช่อก็ได้ ดอกเพศผู้เป็นช่อ กลีบรองกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นท่อสั้นๆ ปลายแยกเป็นกลีบเล็กๆ เรียวยาว มีขน กลีบดอก 5 กลีบรูปรี สีเหลือง ขอบกลีบมีรอยย่นเป็นคลื่น เกสรผู้ 3 อัน อับเรณูมีจำนวนช่องไม่เท่ากัน ดอกเพศเมียมักออกเป็นดอกเดี่ยว กลีบรองกลีบดอกและกลีบดอก มีลักษณะเหมือนดอกเพศผู้ รังไข่รูปทรงกระบอกอยู่ต่ำกว่ากลีบรองกลีบดอกและกลีบดอก ภายในมี 3 ช่อง ท่อรังไข่กลมสั้น ปลายแยกเป็น 3 แฉก ผลรูปทรงกระบอก ปลายผลมีรอยของกลีบรองกลีบดอกเหลืออยู่ ผลอ่อนสีเขียว มีลายสีเขียวแก่ ผลแก่สีเขียวอมเหลือง หรือเขียวเข้มปนเทา เนื้อในมีเส้นใยเหนียวเป็นร่างแห เมล็ดรูปรีแบนเมื่อแก่จะเปลี่ยนเป็นสีดำ

– ระยะเวลาในการปลูกและเก็บผลผลิต
ระยะเวลาในการปลูกใช้เวลา 50-60 วัน
สามารถเก็บผลผลิตได้ในวันที่ 60-70 วันของการปลูก

– สรรพคุณ
ช่วยลดไข้ แก้ปวดหัว แก้หวัด ขับเสมหะ บรรเทาอาการเจ็บคอ ทำให้ชุ่มคอ ช่วยรักษาโพรงจมูกที่อักเสบ, ช่วยเสริมสร้างการทำงานของเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจาง

– ข้อควรระวัง
1. หากรับประทานเมล็ดบวบไม่ว่าจะชนิดใดเข้าไปในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดอาการคลื่นไส้อาเจียนได้
2. ผลบวบทุกชนิดมีฤทธิ์เย็น หากรับประทานมากเกินไปอาจทำให้อุณหภูมิในร่างกายเสียสมดุลได้ นอกจากนี้จากรายงานฉบับหนึ่งกล่าวว่า การรับประทานติดต่อเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบต่อการทำงานของไต และสมรรถภาพทางเพศชายเสื่อมลงด้วย