มะเขือยาว
ชื่อวิทยาศาสตร์ Solanum melongena L.
ชื่อสามัญ Egg plant, Potato tree
วงศ์ Solanaceae
ชื่ออื่นๆ มะเขือไข่ม้า, มะแขว้ง, มะแข้งคม, มะเขือป้าว (ภาคเหนือ), มะเขือฝรั่ง (กรุงเทพฯ), มะเขือขาว, มะเขือจานมะพร้าว, มะเขือกระโปกแพะ, มะเขือจาน (ภาคกลาง), สะกอวา, ยั่งมูไล่ (กะเหรี่ยง-แม่ฮ่องสอน), เกียจี้ (จีน)
– ระยะเวลาในการปลูกและเก็บผลผลิต
ระยะเวลาในการปลูกใช้เวลา 60-70 วัน
สามารถเก็บผลผลิตได้ในวันที่ 70-80 วันของการปลูก
– สรรพคุณ
มีสารช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระ, ช่วยยับยั้งการดูดซึมของคอเลสเตอรอลผ่านหนังลำไส้ได้, ช่วยรักษาหลอดเลือดโลหิตและหัวใจให้เป็นปกติ
– ข้อควรระวัง
1. มะเขือยาว เป็นพืชที่มีสารเจือปนจากการปลูก การบริโภคมะเขือยาวต้องล้างให้สะอาด ก่อนนำมารับประทานอาหาร
2. มะเขือยาว ไม่ควรให้ทารกที่อายุต่ำกว่า 3 ปี รับประทานเพราะกากใยอาหารสูงอาจทำให้มีปัญหาการย่อยอาหาร
3. อย่าใช้มะเขือยาวกับคนที่มีโรคระบบทางเดินอาหารแบบเฉียบพลัน
4. สำหรับผู้ป่วยโรคตับอ่อนอักเสบ ไม่ควรรับประทานมะเขือยาว
ลักษณะ : ต้นเป็นพรรณไม้ล้มลุก ลำต้นมีความสูงประมาณ 0.5-1 เมตร ลักษณะของลำต้นจะแข็งแรง มีสีเขียวหรือสีม่วง ลำต้นมีขนนุ่ม และสั้นปกคลุมทั่ว หรืออาจมีหนามเล็ก ๆ ส่วนบนจะแตกกิ่งก้านสาขาหนาทึบ ใบจะออกสลับกัน ลักษณะของใบเป็นรูปค่อนข้างกลม โคนใบเบี้ยว ส่วนปลายใบแหลม ริมขอบใบหยัก หรือเป็นคลื่นหลังใบ และใต้ท้องใบจะมีขนนุ่มปกคลุม ขนาดของใบยาวประมาณ 2.5-7 นิ้ว กว้างประมาณ 1.5-5 นิ้ว ก้านใบยาวประมาณ 1 นิ้ว ส่วนดอกออกเป็นช่อ หรือออกเป็นดอกเดียว ลักษณะของดอกมีสีม่วง กลีบดอกมี 5 กลีบ โคนกลีบเชื่อมติดกันส่วนปลายแยกจากกันเป็น 5 แฉก ปลายแหลม กลางดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อันและตัวเมีย 1 อัน อยู่ติดกับกลีบดอก ก้านเกสรและอับเกสรเป็นสีเหลือง ผลจะมีลักษณะกลมยาว มีสีเขียวอ่อน สีม่วงคล้ำ หรือเป็นสีขาว ผิวเปลือกจะเรียบเกลี้ยงเป็นมัน ตรงขั้วผลก็จะมีกลีบเลี้ยงสีเขียวติดอยู่ ส่วนการขยายพันธุ์ มะเขือยาวเป็นพรรณไม้เจริญเติบโตได้ดีในดินอุดมร่วนซุย ต้องการน้ำและความชื้นในปริมาณปานกลาง ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะเมล็ด